fbpx

      ส่วนใหญ่เรามักจะเจอข่าวการตรวจพบสารตะกั่วในสีสำหรับเด็ก หรือการเรียกคืนของเล่นบางชนิดจากท้องตลาดเนื่องจากถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วในปริมาณมาก แล้วสารตะกั่วทำอันตรายกับลูกน้อยของคุณอย่างไร?

องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมโรค แห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา กำหนดว่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่ยอมรับได้สำหรับเด็ก ต้องมีค่าน้อยกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ข้อมูลปัจจุบันพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี  เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบจากพิษของสารตะกั่ว เนื่องจากพฤติกรรมที่ชอบเล่นตามพื้นดิน ไม่ล้างมือ ดูดนิ้วหรือหยิบของเข้าปาก  เด็กเล็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ดูดซึมได้เพียงร้อยละ 10-15 ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

เมื่อเด็กได้รับสารพิษจากตะกั่วเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียชัดเจนต่อร่างกายและระดับสติปัญญา โดยเฉพาะพัฒนาการและสมองที่กำลังพัฒนาจะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ ทำให้ไอคิวต่ำ ซึ่งระดับตะกั่วในเลือดมีความสัมพันธ์กับระดับ IQ อย่างชัดเจน และถ้าได้รับในปริมาณสูงจะมีผลต่อสมอง ตับ และไต ทำให้มีอาการซีด ชัก และเสียชีวิต นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสตะกั่วมีความเสี่ยงสูงที่จะแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือลูกมีน้ำหนักตัวน้อย

ของเล่นเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กๆ นอกจากต้องคำนึงถึงวัยของลูกน้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงความปลอดภัย โดยมองหาของเล่นหรือของใช้ที่ได้มาตรฐาน มีฉลากที่ประกอบด้วยชื่อผู้ผลิต สถานที่ประกอบการ ชื่อประเทศที่ผลิต ถ้าของเล่นอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กเพราะการเล่น ต้องระบุคำเตือนของการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเลือกซื้อสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานมอก. เพียงเท่านี้ก็จะฃ่วยลดความเสียงที่เด็กๆจะได้รับอันตรายจากสารตะกั่ว

อ้างอิง : นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ , สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *