การเล่นสำหรับเด็กนั้นสามารถเล่นได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งลักษณะของการเล่นก็จะแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย อาทิ การเล่นในเด็กเล็กจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ภาษาและการสื่อสาร แม้เด็กจะยังพูดไม่ได้ แต่การเล่นจะช่วยให้เด็กเข้าใจรับรู้การสื่อสารกับบุคคลอื่นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงด้านสังคม คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญอย่างมาก
การเล่นทั่วไปกับการเล่นบทบาทสมมุติต่างกันอย่างไร?
การเล่นทั่วไปนั้นอาจจะช่วยพัฒนาทักษะบางส่วน เช่น กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การสื่อสาร การเข้าสังคม สติปัญญา แต่การเล่นบทบาทสมมติมีความสำคัญต่อเด็กดังนี้
– เป็นการพัฒนาทักษะต่างๆ อาทิ จินตนาการ ภาษาและการสื่อสาร การแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การรู้จักและเข้าใจตนเอง การเรียนรู้บทบาทหน้าที่
– เป็นการเตรียมชีวิตก่อนการก้าวเข้าสู่การดำเนินชีวิตในสังคมอย่างแท้จริง ช่วยให้เด็กรู้จักอดทนรอคอย รวมถึงฝึก EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ อีกทั้งยังทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานตามวัย นับเป็นการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมในทุกๆ ด้าน
การเล่นบทบาทสมมุติส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการของเด็ก
การเล่นบทบาทสมมุติส่งผลต่อพัฒนาการในทุกด้านของเด็ก คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงด้านจิตใจด้วย ทั้งนี้ การเล่นบทบาทสมมุติเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กค้นพบตัวเอง เข้าใจตนเอง และสามารถมองภาพฉายอนาคตของตนเองได้ด้วย สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการเล่นบทบาทสมมุติคือ ช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเด็ก
การเล่นบทบาทสมมุติมี 2 ลักษณะกว้างๆ คือ
1. เด็กสร้างจินตนาการ และสมมุติบทบาทสมมุติเอง รวมถึงการสร้างเพื่อนในจินตนาการเอง โดยเด็กอาจต้องมีพื้นฐาน หรือเคยได้รับประสบการณ์จากที่ต่างๆ มาแล้ว และมาสร้างจินตนาการ บทบาทสมมุติเอาเอง
2. การเล่นบทบาทสมมุติในสถานการณ์จำลองให้เสมือนจริง เช่น มีการจัดสิ่งแวดล้อม สภาพการณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการต่อยอดความคิด และจินตนาการให้เด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วมากกว่าแบบที่ 1
นอกจากนี้ นักวิจัยทางด้านพฤติกรรมศาสตร์พบว่า การเล่นบทบาทสมมุติมีส่วนช่วยอย่างมาก และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมนั่นเอง
อ้างอิง: ผู้จัดการออนไลน์